ประวัติความเป็นมา

29 มีนาคม 2567 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นมีพันธกิจหลัก ได้แก่ การผลิตบัณฑิต การให้บริการทางวิชาการ การวิจัยและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ และองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนพันธกิจต่างๆ ของมหาวิทยาลัยให้บรรลุพันธกิจนั้นๆ ก็คือทรัพยากรบุคคล  โดยเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ ศักยภาพของบุคลากรจัดเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์กร กล่าวคือ องค์กรที่มีคุณภาพ จะต้องประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันส่งผลให้องค์กร หรือมหาวิทยาลัยมีความเจริญก้าวหน้าหรือเกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย พันธกิจและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ  สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนมีคุณลักษณะที่ดีพึงประสงค์ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  สำหรับการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ หรืออาจารย์นั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้กำหนดให้มีการการดำเนินงานไว้ในระบบประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา โดยมีการประเมินการดำเนินงานอย่างมีระบบและกำหนดตัวบ่งชี้การประเมินไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ 1)การบริหารและพัฒนาอาจารย์ โดยมีประเด็นการประเมิน คือ การรับและแต่งตั้งอาจารย์ประจำหลักสูตร การบริหารอาจารย์ การส่งเสริมพัฒนาอาจารย์ 2) คุณภาพของอาจารย์ โดยมีตัวชี้วัดในการประเมิน คือ ร้อยละของอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอก ร้อยละของอาจารย์ที่มีผลงานวิชาการ ผลงานวิชาการของอาจารย์ และจำนวนบทความของอาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอกที่ได้รับการอ้างอิงในฐานข้อมูล TCI และ Scopus ต่อจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตร 3) ผลที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ โดยปรากฏการณ์ ที่แสดงผลและใช้พิจารณาในการประเมิน คือ อัตราคงอยู่ของอาจารย์และความพึงพอใจของอาจารย์ สำหรับตัวบ่งชี้เกี่ยวกับผลงานทางวิชาการของอาจารย์ประจำได้กำหนดว่าผลงานทางวิชาการเป็นข้อมูลสำคัญในการแสดงให้เห็นว่าอาจารย์ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพตามบทบาทหน้าที่ขึ้น  และแสดงถึงการพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพโดยการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพควรได้รับการเผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงวิชาการและการแข่งขันของประเทศ  ซึ่งผลงานวิชาการของบุคลากรสายวิชาการอาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ   เช่น  บทความวิจัยหรือบทความวิชาการที่จะต้องได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ตามระเบียบข้อบังคับที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด ตำราหรือหนังสือที่ใช้ในการขอผลงานทางวิชาการและผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการแล้ว  จะเห็นว่าการที่อาจารย์จะมีผลงานวิชาการตามหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพได้นั้นต้องมีการดำเนินงานอย่างจริงจัง มีระบบที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ  แต่จากผลการศึกษาสำรวจสภาพการทำผลงานวิชาการของอาจารย์พบว่ายังไม่มีระบบการพัฒนาที่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานได้  อาจารย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีผลงานวิชาการตามระยะขอบเขตของเวลาที่ระบุไว้ในหลักเกณฑ์การจ้างงาน  นอกจากนั้นพบว่า มีการดำเนินงานวิจัยเพียงบางกลุ่ม เอกสารประกอบการสอนที่ใช้สอนในรายวิชาต่างๆ ก็ยังมีไม่ครบทุกรายวิชา และยังไม่มีคุณภาพเพียงพอตามเกณฑ์การประเมินดังกล่าว เช่น ไม่มีรูปเล่มที่สมบูรณ์ รูปเล่มยังไม่ได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดหากปล่อยให้สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นต่อไปก็จะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในการดำเนินงานตามพันธกิจทุกพันธกิจ นั่นคือการขาดคุณภาพทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาตระหนักในความสำคัญดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนให้อาจารย์มีการผลิตผลงานทางวิชาการอย่างทั่วถึงทุกหลักสูตร และมีคุณภาพตามเกณฑ์การประกันคุณภาพที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดม ศึกษากำหนด มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจึงได้จัดทำโครงการเร่งรัดและส่งเสริมการทำผลงานวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลานี้ขึ้น